แนวทางการติดตามประเมินผล

//แนวทางการติดตามประเมินผล
แนวทางการติดตามประเมินผล 2018-03-04T14:59:39+07:00

การประเมินสถานการณ์สภาพแวดล้อมภายนอกที่เกี่ยวข้อง

การพัฒนาด้านโครงการสร้างพื้นฐาน

ปัญหา

1. เส้นทางคมนาคม บางแห่งยังต้องปรับปรุง ซ่อมแซม และถนนยังเป็นลูกรัง มีฝุ่นคละคลุ้ง ทำให้เกิดมลภาวะต่อประชาชนที่สัญจรไป – มา
2. การไฟฟ้าและแสงสว่าง ยังไม่ทั่วถึงทุกพื้นที่ ทุกหลังคาเรือน ในบางจุดอุปกรณ์ไฟฟ้าชำรุดเสียหาย
3. ระบบประปายังไม่สมบูรณ์แบบ ในบางพื้นที่ปริมาณน้ำอุปโภค บริโภค ไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน
4. ขาดแคลนแหล่งน้ำในฤดูแล้ง ในการอุปโภค บริโภค และใช้ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยต่างๆ

ขอบเขตและปริมาณของปัญหา พื้นที่เป้าหมาย กลุ่มเป้าหมาย

1. เส้นทางคมนาคม มีบางส่วนสามารถปรับปรุงและพัฒนาให้มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินได้ แต่ถนนบางเส้นทาง เช่น ถนนเส้นสายคันคลองชลประทาน ซี 40 ระหว่าง หมู่ที่ 6 – หมู่ที่ 7 ผ่านบริเวณหน้าสำนักงานเทศบาลตำบลทุ่งน้อย จนถึงเขตติดต่อตำบลวัดขวาง สภาพเป็นถนนลูกรัง ทำให้เกิดละอองฝุ่นหนาทึบ เกิดมลภาวะทางอากาศ จนเป็นเหตุให้เด็กนักเรียน และประชาชนที่สัญจรไป-มา ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งมีปริมาณของยานพาหนะผ่านไปมามากพอสมควร เพราะมีสถานที่ราชการตั้งอยู่ ทั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของเทศบาลตำบลทุ่งน้อย สำนักงานเทศบาลตำบลทุ่งน้อย วัดทุ่งน้อย วัดเถรน้อย และบ้านเรือน ที่พักอาศัยของประชาชน ที่อยู่บริเวณริมถนนลูกรัง ก็มีหลายหลังคาเรือน และเป็นเส้นทางที่ใช้สัญจรไป-มาของประชาชนและเด็กนักเรียนจำนวนมาก
2. ไฟฟ้าและแสงสว่าง ในเขตเทศบาลตำบลทุ่งน้อย หมู่บ้านที่อยู่บริเวณชายขอบ ยังไม่มีระบบไฟฟ้า เพราะอยู่ห่างจากชุมชนมาก เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่การเกษตร ลักษณะของการอยู่ร่วมกันยังไม่หนาแน่น เป็นบริเวณกลางทุ่งนา และอีกกรณีคือ การแก้ไขปัญหาของการขาดแคลนไฟฟ้าของประชาชนยังเป็นปัญหาและแก้ไขไม่ถูกต้อง โดยการลักลอบใช้ไฟฟ้าสาธารณะ จนเป็นเหตุให้ภาครัฐได้รับความเสียหาย เทศบาลตำบลทุ่งน้อย จึงต้องแก้ปัญหาโดยการสำรวจและเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้ถูกต้อง
3. ระบบประปาหมู่บ้าน ของประชาชนในเขตเทศบาลตำบลทุ่งน้อย ยังไม่เพียงพอตามความต้องการของประชาชน เช่น ประชาชนหมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 3 ตำบลทุ่งน้อย ระบบประปาหมู่บ้านยังผลิตน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค ไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน มีสาเหตุมาจากระบบที่ยังไม่สมบูรณ์ ขนาดของท่อส่งน้ำเล็กและรั่วไหล ไม่มีแรงดันน้ำ ทำให้ประชาชนที่อยู่ปลายน้ำหรือมีลักษณะบ้านสูง ไม่ได้รับน้ำหรือรับได้แต่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ และระบบประปาต้องใช้ไฟฟ้าในการผลิต แต่กระแสไฟฟ้าขาดความสมดุลกับระบบประปา จนทำให้ระบบประปาเกิดความเสียหาย ชำรุด พัง ต้องทำการซ่อมแซมจนงบประมาณในการบริหารขาดดุล และไม่เพียงพอ
4. แหล่งน้ำธรรมชาติ เทศบาลตำบลทุ่งน้อย ขาดแคลนแหล่งน้ำในการกักเก็บน้ำเพื่อใช้ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในช่วงฤดูแล้งขาดแหล่งน้ำในการดับเพลิง การลดปัญหาฝุ่นละอองบนท้องถนน การดูแลทัศนียภาพต่างๆ เช่น ต้นไม้ ไม้ดอกไม้ประดับ เป็นต้น

การคาดการณ์แนวโน้มในอนาคต

ปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐานสามารถพัฒนาหรือแก้ไข ปรับปรุงได้ โดยการจัดหาเงินงบประมาณให้เพียงพอ ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้อย่างทั่วถึง และในส่วนของพื้นที่ เขตติดต่อกับตำบลข้างเคียงที่ต้องพัฒนา แก้ไข ปรับปรุงร่วมกันนั้น เทศบาลตำบลทุ่งน้อย ได้จัดทำแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม ที่เกินศักยภาพ ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นข้างเคียง และเทศบาลตำบลทุ่งน้อย ได้ของบประมาณสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตร กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาท้องถิ่น โดยเทศบาลเทศบาลตำบลทุ่งน้อย ได้นำแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม แนวทางการจัดทำแผนพัฒนาและประสานแผนพัฒนา เพื่อดำเนินการของงบสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยคัดเลือกโครงการพัฒนา สำหรับ การประสานขอรับการบรรจุในแผนพัฒนาสามปีของ อบจ. โดยจัดทำเป็นบัญชีประสานโครงการพัฒนาของ อปท.เพื่อเสนอคณะกรรมการประสานแผนฯ ระดับอำเภอ ซึ่งมีที่มาตามหลักเกณฑ์ที่คระกรรมการประสานแผนพัฒนาท้องถิ่นระดับจังหวัดกำหนด

ความต้องการของประชาชน

1. จัดให้มีทางคมนาคมที่มีสภาพใช้งานได้ ทำให้การสัญจรไปมาสะดวกและปลอดภัย
2. ขยายเขตไฟฟ้าสาธารณะ พร้อมติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างให้ครอบคลุมทุกพื้นที่
3. ก่อสร้างและขยายเขตระบบประปาหมู่บ้านให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เหมาะสมกับจำนวนของครัวเรือนให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในเขตเทศบาลตำบลทุ่งน้อยได้อย่างเพียงพอ ทั่วถึงและครบทุกหลังคาเรือน

การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ

ปัญหา

– ประชาชนขาดความรู้ในกระบวนการ การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรให้ได้คุณภาพและเป็นที่ต้องการของตลาด
– ขาดการสนับสนุนส่งเสริมการลดต้นทุนภาคการเกษตร เช่น การผลิตปุ๋ยจากธรรมชาติและนำมาใช้ในพื้นที่ของตนเอง หรือจำหน่ายเพื่อเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย
– หน่วยงาน/องค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการให้ความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องของกลไกการตลาดยังไม่มี หรือเทคนิคในการจำหน่ายสินค้าภาคการเกษตรให้ได้ราคาตามที่ต้องการ

ขอบเขตและปริมาณของปัญหา พื้นที่เป้าหมาย กลุ่มเป้าหมาย

ประชาชนส่วนใหญ่ในเขตเทศบาลตำบลทุ่งน้อย มีอาชีพหลัก คือ การทำกสิกรรม ไม่ว่าจะเป็น การทำนา การทำสวน การทำไร่ หรือการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร เช่น การทำสวนมะนาว การปลูกข่า เป็นต้น ขอบเขตและปริมาณของปัญหา หรือกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มเกษตรกร ที่ยังใช้สารเคมี ในการทำเกษตร จนทำให้เกิดสารพิษตกค้าง และเกิดมลพิษทั้ง ทางดิน ทางน้ำ และทางอากาศ  ฉะนั้น อาจรวมกลุ่มผู้มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาภาคการเกษตร มาให้ความรู้ ความเข้าใจ ในทุกๆ ด้าน

การคาดการณ์แนวโน้มในอนาคต

ภาคการเกษตร เป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่จะต้องดำเนินการพัฒนาเทศบาลตำบลทุ่งน้อย เล็งเห็นความสำคัญเป็นอย่างมาก การจัดสรรงบประมาณ การจัดทำโครงการ/กิจกรรม  จะเน้นหนักในเรื่องของภาคการเกษตร อีกทั้ง การเพิ่มพูนความรู้ ให้กับเกษตรกร เป็นนโยบายที่ต้องดำเนินการในอนาคตอย่างแน่นอน

ความต้องการของประชาชน

1. ประชาชนในเขตเทศบาลตำบลทุ่งน้อยต้องการเครื่องมือ ในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ เช่นเครื่องบดน้ำพริกและต้องการความรู้ในการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และสถานที่จำหน่ายสินค้าที่มั่นคงถาวร
2. ลานตากผลผลิตทางการเกษตร เพื่อเพิ่มคุณภาพของผลผลิต ลดความชื้น ก่อนที่จะจำหน่าย เพิ่มมูลค่าสินค้า เพราะลดปัญหาการกดราคาผลผลิต เช่น ข้าวเปลือก เป็นต้น
3. เกษตรกรมีความต้องการด้านความรู้ความเข้าใจในการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกร การจัดตั้งกลุ่มสหกรณ์ เพื่อการแข่งขันภาคการเกษตรและลดการเอารัดเอาเปรียบจากกลุ่มพ่อค้าคนกลาง

การพัฒนาด้านสังคม

ปัญหา

1. จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น แต่ขาดกิจกรรมสำหรับการส่งเสริมคุณภาพทางด้านจิตใจและสุขภาพร่างกาย
2. โรคติดต่อ หรือโรคแพร่ระบาดยังมีอยู่ เช่น โรคไข้เลือดออก
3. เด็กและเยาวชน ขาดความรัก ความหวงแหน ท้องถิ่นบ้านเกิด
4. ปัญหาด้านยาเสพติด ในกลุ่มเสี่ยง ยังมีอยู่
5. ขาดสถานที่สำหรับการเล่นกีฬา นันทนาการ และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ

ขอบเขตและปริมาณของปัญหา พื้นที่เป้าหมาย กลุ่มเป้าหมาย

1. เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ ปลอดสารพิษ จึงทำให้ประชาชนในเขตเทศบาลตำบลทุ่งน้อย มีอายุยืนยาว เป็นพิเศษ ฉะนั้น จึงเป็นเหตุให้จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น  แต่กลับไม่มีกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุ สามารถใช้เวลาว่างในการมีชีวิตอยู่นั้นเกิดประโยชน์อย่างสูงสุด
2. ในเขตพื้นที่ของเทศบาลฯ ส่วนใหญ่มีพื้นที่เป็นป่าหนาแน่น อากาศร้อนชื้นเหมาะแก่การเกิดโรคไข้เลือดออก ในแต่ละปี สถิติการเกิดโรคไข้เลือดออกมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
3. เด็กและเยาวชนในเขตเทศบาลฯ ขาดการปลูกจิตสำนึกในด้านรักบ้านเกิด รักในอาชีพของพ่อแม่ ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ อายุระหว่าง 18-35 ปี อยู่นอกพื้นที่ ไปศึกษาเล่าเรียน หรือไปทำงานที่อื่น ทั้งที่พื้นที่ทำการเกษตรมีมากมาย แต่ขาดแรงงานที่สำคัญในการสานต่อ สืบทอดอาชีพที่เรียกกันว่า “กระดูกสันหลังของชาติ” ปัญหาด้านยาเสพติด เป็นปัญหาที่รัฐบาลได้กำหนดให้เป็น วาระแห่งชาติ แต่ปัญหานี้  กลับไม่ลดน้อยลงเลย เพราะกลุ่มเสี่ยงส่วนใหญ่ จะมาจากลูกหลานของผู้นำในชุมชน/หมู่บ้าน การปกปิดปัญหาหรือไม่มีข้อมูลที่เป็นจริง จึงยากแก่การแก้ไข กำหนดมาตรการที่ชัดเจน
4. จากปัญหาในข้อที่ 3 มีเหตุมาจาก ในเขตเทศบาลฯ ไม่มีพื้นที่ในการเล่นกีฬาหรือนันทนาการ ที่ได้มาตรฐาน ขาดอุปกรณ์กีฬาที่กลุ่มเสี่ยงในการติดสารเสพติดต้องการอย่างแท้จริง หรือขาดพื้นที่ในการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ปัญหานี้ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการแก้ไข มิฉะนั้น จากปัญหาผู้ติดยาเสพติด ก็จะมีปัญหาอาชญากรรมตามมาอีกด้วย

การคาดการณ์แนวโน้มในอนาคต

เทศบาลตำบลทุ่งน้อย จะดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนทั้งทางด้านสาธารณสุข  จัดวิทยากรมาอบรมให้ความรู้ ความเข้าใจ และจัดให้มีอาสาสมัครสาธารณสุขเป็นตัวแทนของเทศบาลคอยดูแลสอดส่องปัญหาสาธารณสุขภายในชุมชนของตนเองและประสานมายังเทศบาลเพื่อให้ความช่วยเหลือ  และจัดให้มีโครงการด้านสาธารณสุข ลงไปยังชุมชน/หมู่บ้านต่าง ๆ อย่างทั่วถึง ส่วนในด้านการลดปัญหาต่างๆ ในเด็กและเยาวชน สิ่งสำคัญการปลูกฝังจิตสำนึกที่ดี ทั้งเรื่อง คุณธรรม จริยธรรม สามารถช่วยได้ดีและลงทุนน้อย เช่น การปลูกฝังในเรื่องเกี่ยวกับความสำคัญของหมู่บ้าน/ชุมชน ให้เด็กและเยาวชนเล็งเห็นความสำคัญในถิ่นที่อยู่ บ้านเกิด อาชีพดั้งเดิม ส่วนเรื่องของยาเสพติด หากกลุ่มนี้ได้รับรู้ถึงโทษของยาเสพติด โดยจัดอบรมทั้งทางโลก และทางธรรม ก็สามารถลดปัญหาลงได้ และการส่งเสริมจริยธรรมของเด็กและเยาวชน มีการส่งเสริมโดยการอบรมทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียน  จัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนเพื่อสร้างความตระหนักและเทศบาลได้ส่งเสริมกิจกรรมด้านประเพณีและวัฒนธรรม ทั้งที่ดำเนินการเองและจัดงบประมาณอุดหนุน  ด้านสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและนันทนาการเทศบาลได้ส่งเสริมกีฬาในชุมชนโดยจัดสร้างสนามกีฬาในชุมชนและสนับสนุนอุปกรณ์กีฬาในการฝึกซ้อมและแข่งขัน หรือมีการส่งตัวแทนให้เป็นนักกีฬาระดับหมู่บ้าน อำเภอ และระดับจังหวัด ก็เป็นทางเลือกที่ดี ส่วนสถานที่หรือสวนสาธารณะของเทศบาล จัดส่งเสริมการปลูกต้นไม้ในชุมชนและที่สาธารณะต่าง  ๆ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในพื้นที่สาธารณะประโยชน์ ลดมลภาวะโลกร้อน ทุกอย่างเป็นสิ่งจำเป็นที่เทศบาลตำบลทุ่งน้อยต้องดำเนินการและคาดการณ์ไว้ในอนาคต

ความต้องการของประชาชน

ประชาชนต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ดี  ได้รับบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึง เด็ก เยาวชนได้รับการปลูกฝังให้อยู่ในจริยธรรมมีความสนใจในประเพณีของท้องถิ่นอันดีงาน มีลูกหลานสานต่ออาชีพเกษตรกรรมอย่างภาคภูมิใจ  และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ  สถานที่เล่นกีฬา  ออกกำลังกายและนันทนาการอย่างเพียงพอ และใช้พื้นที่สาธารณะประโยชน์หรือพื้นที่ว่างเปล่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด

การพัฒนาด้านการเมืองการบริหาร

ปัญหา

1. ประชาชนขาดความตระหนัก ความกระตือรือร้น ในการมีส่วนร่วมทางการเมือง การบริหาร อย่างจริงจัง
2. ผู้บริหารงานและผู้ปฏิบัติงาน บางส่วนของเทศบาลตำบลทุ่งน้อย ยังไม่ยึดและปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาล
3. สถานที่ เครื่องมือ เครื่องใช้ ในการปฏิบัติงานไม่เพียงพอและไม่ทันสมัย
4. การส่งเสริม พัฒนาและปรับปรุงในส่วนของการจัดเก็บรายได้ของเทศบาลฯ  ไม่เพียงพอต่อการบริหารงาน

ขอบเขตและปริมาณของปัญหา พื้นที่เป้าหมาย  กลุ่มเป้าหมาย

ประชาชนในเขตเทศบาลตำบลทุ่งน้อย บางส่วนขาดความตระหนัก ความกระตือรือร้น ในการที่จะร่วมกิจกรรมทางการเมือง การบริหารงาน เช่น การประชาสังคม การเข้าร่วมประชุม อบรม หรือการให้ความรู้ ในเรื่องต่างๆ สาเหตุมาจากประชาชนในพื้นที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ช่วงระหว่างระยะเวลาในการทำนา ทำไร่ ทำสวน คือ 04.30 น. ถึงเวลา 18.30 น. และบางส่วนไม่ได้อยู่ในพื้นที่  ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนบกพร่อง ทำให้ไม่ทราบความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง และการบริหารงานไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ส่วนในด้านของการปฏิบัติงาน ปฏิบัติหน้าที่ ของบุคลากรในเทศบาลฯ บางส่วนไม่ยึดหลักธรรมาภิบาล ในการปฏิบัติงาน ขาดความกระตือรือร้นในการทำงานและขาดประสิทธิภาพ อาจเนื่องมาจากข้อจำกัดของทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็น เงิน คน หรือส่วนอื่น ขาดการส่งเสริมพัฒนาด้านพื้นฐานของการทำงาน  ด้านอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ของเทศบาลมีไม่เพียงพอ เนื่องจากงบประมาณในการจัดหามีจำกัด  รายได้ของเทศบาลมีน้อยซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำเนินงานพัฒนาด้านต่าง ๆ  รายได้ของเทศบาลส่วนใหญ่เป็นรายได้ที่ส่วนกลางจัดสรรให้  รายได้จากการจัดเก็บเองมีน้อยเนื่องจากพื้นที่เทศบาลฯ เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ไม่มีแหล่งเศรษฐกิจภายในเขตเทศบาลฯ

การคาดการณ์แนวโน้มในอนาคต

เทศบาลตำบลทุ่งน้อย จัดให้มีการประชาสัมพันธ์  เผยแพร่  และส่งเสริมให้ประชาชนมีความสนใจในการเมืองการบริหารโดยใช้สื่อต่าง ๆ ของเทศบาล  จัดอบรมแกนนำในชุมชน/หมู่บ้าน และส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองการบริหารโดยการจัดตั้งกลุ่มตัวแทนของชุมชน/หมู่บ้าน ในด้านต่าง ๆ ส่วนในเรื่องบุคลากรของเทศบาลฯ จัดให้มีการส่งเสริมพัฒนาระบบการทำงาน โดยการส่งอบรมอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและมีทัศนคติที่ดีในการทำงาน  สร้างแรงจูงใจให้กับผู้ปฏิบัติงาน ทำให้มีขวัญและกำลังใจในการทำงาน และให้ทุกคนยึดถือ ปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลอย่างแท้จริง ส่วนด้านการพัฒนาการจัดเก็บรายได้ จัดให้มีการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการชำระภาษี การต่อใบอนุญาตต่างๆ และการปฏิบัติตามเทศบัญญัติ การปรับปรุงด้านแผนที่ภาษีให้สามารถจัดเก็บได้อย่างทั่งถึง  ยุติธรรมและครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด  เร่งรัดการจัดเก็บให้ครบถ้วนตามกำหนดเวลา  อีกทั้งออกเทศบัญญัติเพื่อปรับปรุงอัตราการจัดเก็บให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบันและเพียงพอต่อการดำเนินการ

ความต้องการของประชาชน

1. สร้างความตระหนัก ให้ประชาชนเล็งเห็นความสำคัญ ของการมีส่วนร่วมในด้านการเมือง การบริหารของเทศบาลตำบลทุ่งน้อยและสนใจที่จะมีส่วนร่วมกิจกรรมทางเทศบาลจัดขึ้น
2. ผู้บริหาร บุคลากร ของเทศบาลตำบลทุ่งน้อย ได้รับการพัฒนาสามารถปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีการบริการที่ดี  สะดวก  รวดเร็ว
3. เทศบาลฯ สามารถจัดเก็บรายได้อย่างทั่วถึง และครบถ้วน เป็นธรรม เพื่อมีรายได้ให้เพียงพอต่อการบริหารงานและดำเนินโครงการ/กิจกรรมด้านต่างๆ มีการส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มสร้างอาชีพหรือลงทุนในโครงการ/กิจกรรม เพื่อก่อให้เกิดการสร้างงานและกระจายรายได้ อย่างยั่งยืน

การพัฒนาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ปัญหา

ประชาชนยังใช้สารเคมีในการป้องกันและลดปัญหาด้านผลผลิต จนทำให้เกิดมลพิษและทำลายสิ่งแวดล้อม

ขอบเขตและปริมาณของปัญหา พื้นที่เป้าหมาย กลุ่มเป้าหมาย

เนื่องจากประชาชนในเขตเทศบาลฯ มีพื้นที่เป็นแหล่งเกษตรกรรม การปลูก การดูแลผลผลิตทางการเกษตร ส่วนใหญ่ประชาชนยังพึ่งสารเคมีในการเพิ่มผลผลิตหรือทำลายศัตรูพืช จนทำให้ระบบนิเวศน์ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถูกทำลาย ประชาชนยังไม่เล็งเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ ป้องกันและดูแลเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

การคาดการณ์แนวโน้มในอนาคต

เทศบาลตำบลทุ่งน้อย จัดหาพื้นที่สาธารณะประโยชน์ในเขตเทศบาลฯ เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียว ลดปัญหาภาวะโลกร้อน และใช้พื้นที่ว่างเปล่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ปุ๋ยชีวภาพ ลดปัญหาสารเคมีตกค้างในพืชผลทางการเกษตร และการปศุสัตว์ จัดโครงการ/กิจกรรม ให้ความรู้ ความเข้าใจ และสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ ป้องกันและดูแลเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และทำให้ประชาชนหวงแหน

ความต้องการของประชาชน

ประชาชนต้องการ มีความรู้ในการดูแล อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  อย่างถูกต้อง และมีเครื่องมือเครื่องใช้และบุคลากรในการจัดการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเพียงพอ สร้างจิตสำนึกและมีความตระหนักในการอนุรักษ์ ป้องกัน ดูแล รักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม